|
|
|
|
|
|
|
สตส.อ่างทอง ร่วมพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ตามโครงการบริหารจัดการทรัพยากรประมง
กิจกรรมฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ (ทุ่งป่าโมก)
วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 10.30 น. นางสาวนิตยา จั่นนพรัตน์ หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์อ่างทอง ร่วมพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ตามโครงการบริหารจัดการทรัพยากรประมง กิจกรรมฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ (ทุ่งป่าโมก) โดยมีนายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดพระนครศรีอยุธยา นายอำเภอป่าโมก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนรสิงห์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนักเรียน เข้าร่วมกิจกรรม ณ คลองลาดเค้า บริเวณท่าน้ำศูนย์แปรรูปผลิตภัณฑ์ หมู่ที่ 6 ตำบลนรสิงห์ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ สร้างความมั่นคงของแหล่งอาหารชุมชน พร้อมทั้งสร้างรายได้จากการทำประมง และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของชุมชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการการเพาะพันธุ์ปลาด้วยชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ (mobile hatchery) เครื่องมือประมงพื้นบ้าน และเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวนทั้งสิ้น 30,200,000 ตัว ประกอบด้วย
1. พันธุ์ปลาตะเพียนขาว ตะเพียนทอง กุ้งก้ามกราม จำนวน 200,000 ตัว
2. ลูกพันธุ์ปลาตะเพียนขาววัยอ่อน (ปลาอายุ 3 วันหลังแรกเกิด) จำนวน 18,000,000 ตัว ทั้งนี้ ได้ปล่อยลูกพันธุ์ปลาวัยอ่อน (ปลาอายุ 3 วันหลังแรกเกิด) ไปแล้ว 1 ครั้ง จำนวน 12,000,000 ตัว เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ณ บริเวณหน้าวัดลาดเค้า รวมทั้งสิ้น 30,000,000 ตัว
กรมประมง ได้เห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างจำนวนประชากรของสัตว์น้ำรุ่นใหม่ ภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรประมง ด้วยการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ สร้างความมั่นคงของแหล่งอาหารชุมชน สร้างรายได้จากการทำประมง และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องชาวประมงและประชาชนทั่วไป จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพยากรประมง กิจกรรมฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 13 แห่ง ที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก ซึ่งรวมถึงบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของจังหวัดอ่างทอง
จังหวัดอ่างทอง โดยสำนักงานประมงจังหวัดอ่างทอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอ่างทอง หน่วยงานกรมประมงที่เกี่ยวข้อง อำเภอป่าโมก องค์การบริหารส่วนตำบลนรสิงห์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพยากรประมง กิจกรรมฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ "บริเวณทุ่งป่าโมก เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ สร้างความมั่นคงของแหล่งอาหารชุมชน พร้อมทั้งสร้างรายได้จากการทำประมง และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของชุมชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
|
|
|
|